วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562

(Self-Test)9

ตรวจสอบทบทวน (Self-Test)
1.หลักสูตรสถานศึกษามีความสำคัญหรือจำเป็นอย่างไร
ตอบ   1. เป็นเอกสารของทางราชการ เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวของกับการศึกษาได้ปฏิบัติตาม
และเข้าใจตรงกัน
2. เป็นแผนการปฏิบัติงานของครูในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
3. เป็นมาตรฐานในการจัดการศึกษาระดับต่าง ๆ
4. เป็นแนวทางในการส่งเสริมความเจริญงอกงามและพัฒนาการของผู้เรียนตามจุด
มุ่งหมายของการศึกษา
5. เป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อให้
ได้รับประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสังคม
6 .เป็นตัวกำหนดลักษณะและรูปแบบของสังคมในอนาคต และเป็นเครื่องชี้วัดความ
เจริญก้าวหน้าของประเทศ
7. เป็นแผนการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารงานตามนโยบาย
ของการจัดการศึกษา


กิจกรรม (Activity)
1.สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรแกนกลางสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ตอบ -การพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการพิจารณาและการกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรที่จัดทำนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร ทั้งโดยส่วนรวมและส่วนย่อยของหลักสูตรนั้นๆ อย่างชัดเจนการคัดเลือกกิจกรรม วัสดุประกอบการเรียนการสอน การเลือกสรรเนื้อหาสาระ กิจกรรมทั้งในทั้งนอก ห้องเรียน การกำหนดระบบการจัดวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เหมาะสมแต่ละวิชาและแต่ละชั้นเรียน
การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนของการตัดสินใจเลือกหาทางเลือก การเรียนการสอนที่เหมาะสม หรือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็นระบบที่สามารถปฏิบัติได้ นักพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงภูมิหลักขององค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียด และรอบคอบก่อน ตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง และเมื่อตัดสินใจเลือกแล้วก็ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ การพัฒนาหลักสูตรมีข้อควรคำนึงหลายประการที่นักพัฒนาหลักสูตรต้องหาคำตอบ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจจัดทำหลักสูตร Tyler (1949) ได้กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
1. จุดมุ่งหมายการศึกษาของโรงเรียน คืออะไร?
2.การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษาของโรงเรียนนั้น ต้องใช้ประสบการณ์การศึกษาอะไร?
3. ประสบการณ์การศึกษาดังกล่าวจะจัดอย่างไร?
4. คุณภาพของหลักสูตรได้มาอย่างไร?
สำราญ คงชะวัน (2456: 13-14) ได้สรุปว่าการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการวางแผนและพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน การเลือกจุดมุ่งหมายเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดผลประเมินผล เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน (Marsh and Willis. 1995:129)การพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ระยะเวลา ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความหมายเหมาะสมโดยอาจปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่โดยที่ยังไม่เคยมีหลักสูตรนั้นมาก่อนก็ได้ ซึ่งผู้พัฒนาสามารถดำเนินการได้ทุกระยะเวลา และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความเหมาะสม และกระบวนการวางแผนและพัฒนาประสบการณ์ในการเรียนรู้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน
บุญชม ศรีสะอาด (2546: 21-46) ได้กล่าวถึงแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาหลักสูตรว่าต้องอาศัยพื้นฐานที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (Historical foundation) อิทธิพลขอพื้นฐานดังกล่าวมี 2 ลักษณะ
          1.1 หลักสูตรที่พัฒนา มีความรู้ ผลการค้นพบ และแนวปฏิบัติที่เคยมีมาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
          1.2 ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดการศึกษาในอดีตเป็นบทเรียนในการสร้างหลักสูตรใหม่
2.  พื้นฐานทางปรัชญา (Philosophical foundation) ปรัชญามีส่วนในการสร้างหลักสูตร เนื่องจากปรัชญามีส่วนในการช่วยกำหนดจุดประสงค์และการจัดการสอน ซึ่งมีแนวปรัชญาต่างๆ มากมาย
          2.1 ปรัชญาสารัตถะนิยม (Essentialism) เชื่อว่าแต่ละวัฒนธรรมมีความรู้ ความเชื่อ ทักษะ อุดมการณ์ที่เป็นแกนกลาง หลักสูตรที่จัดตามแนวนี้ได้แก่ หลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา (Subject curriculum) และแบบสหสัมพันธ์ (Broadfields curriculum)
          2.2 ปรัชญาสัจนิยม (Perenialism) เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถในการใช้ความคิด ความสามารถในการใช้ความคิด ความสามารถในการใช้เหตุผล การตัดสินแยกแยะ และความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า การจัดหลักสูตรจึงเน้นความสำคัญของวิชาพื้นฐานได้แก่ การอ่าน เขียน และการคิดคำนวณ
          2.3 ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เชื่อว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้โดยอาศัยประสบการณ์ ผู้สอนแบบประสบการณ์หรือกิจกรรม (Experience or activitycurriculum)
   2.4 ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เน้นเรื่องชีวิตและสังคม ได้แก่ หลักสูตรที่ยึดหลักสังคมและการดำรงชีวิต (Social process and life function curriculum) และหลักสูตรแบบแกน (Core curriculum)
          2.5 ปรัชญาสวภาพนิยม (Existentialism) เชื่อว่าแต่ละคนกำหนดของชีวิตของตนเองได้แก่ หลักสูตรแบบเอกัตภาพ (individualized) เน้นการให้เสรีแก่ผู้เรียนมากที่สุด
3. พื้นฐานจากสังคม (Sociogical foundation) หลักสูตรได้รับอิทธิพลจากสังคมมากที่สุด สมาชิกในสังคมเป็นผู้สร้างและพัฒนาโรงเรียน รากฐานทางสังคมที่มีต่อการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรและการเปลี่ยนแปลงของสังคมก็มีผลทำให้หลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
4. พื้นฐานจากจิตวิทยา (Psychologial foundation) จิตวิทยามีส่วนสำคัญต่อการสร้างหลักสูตรและการสอน โดยเฉพาะจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้
            4.1 จิตวิทยาพัฒนาการ การที่จะช่วยให้แต่ละบุคคลมีพัฒนาการที่เหมาะสมที่ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนหลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานทางชีววิทยาของความแตกต่างระหว่างบุคคลวุฒิภาวะทางกาย พัฒนาการ และ สัมฤทธิ์ผลทางสติปัญญา พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งผลการวิจัยของนักทฤษฎีพัฒนาการ Hevighurst development theory กล่าวว่า งานพัฒนาการแต่ละวัยนั้น ถ้าหากประสบความสำเร็จในการพัฒนาในงานใด ก็จะทำให้มีความสุขและส่งผลต่อความสำเร็จในงานต่างๆ มาก ทฤษฎีพัฒนาการ Erikson’s psychosocialtheory ที่เชื่อว่าพัฒนาการแต่ละชั้นถ้าได้รับการส่งเสริมตามต้องการจะเกิดความพึงพอใจและมั่นใจ สามารถพัฒนาการขั้นตอนต่อไปได้อย่างสมบูรณ์เป็นผลให้มีบุคลิกภาพดี แต่ถ้าขั้นใดไม่ได้รับการส่งเสริมจะเกิดความคับข้องใจเกิดความไม่พึงพอใจและเป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา Cognitive development theory ที่เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งถึงวัยที่มีสติปัญญาอย่างสมบูรณ์
           4.2 จิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้เป็นพื้นฐานสำคัญของเนื้อหาหลักสูตรและกิจกรรมการสอน ทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
- ทฤษฎีที่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (S-Rcondition) ได้แก่ ทฤษฎีการเสริมแรง และทฤษฎีเงื่อนไข นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ Pavlov Thorndike และ Skinner
- ทฤษฎีสนาม (Field theory) แนวคิดของทฤษฎีนี้คือ ส่วนรวมทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญมากจะต้องมาก่อนส่วนย่อย ทฤษฎีที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ ทฤษฎีพุทธินิยม และทฤษฎีมนุษย์นิยม
- ทฤษฎีผสมผสาน (lntegrated theory) มีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ การศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ การผสมผสานระหว่างทฤษฎีเชื่อมโยงสิ่งเร้ากับการตอบสนองและทฤษฎีสนาม
- ทฤษฎีการเรียนรู้ในโรงเรียนของ Bloom เป็นทฤษฏีที่เน้นพื้นฐานเดิมของผู้เรียน และ คุณลักษณะของแต่ละคน
5. พื้นฐานจากวิชาการความรู้ต่างๆ (Disciplines of knowledge foundations) ความรู้ของวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งความรู้ทางอาชีพ เป็นรากฐานของการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างหลักสูตรจึงต้องมุ่งให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมโนทัศน์ (Concept) และวิธีการของวิชานั้นๆ

-หลักสูตรแกนกลางการศึกษา พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560)
วิสัยทัศน์
            หลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้  คุณธรรม  มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ  การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ
หลักการ
หลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มีหลักการที่สำคัญ  ดังนี้
          1.  เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
2.  เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ
3.  เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
4. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัดการเรียนรู้
5.  เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
6.  เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์ 
จุดหมาย
หลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดังนี้
1.  มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต
3.  มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
4.  มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5.  มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข   
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ดังนี้
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
หลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิด อย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต  เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน  การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม
คุณลักษณะอันพึงประสงค์
หลักสูตรโรงเรียนบางมดวิทยา สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์” พุทธศักราช 2561 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2561) มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก   ดังนี้
1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต
3. มีวินัย
4. ใฝ่เรียนรู้
5. อยู่อย่างพอเพียง
6. มุ่งมั่นในการทำงาน
7. รักความเป็นไทย

8. มีจิตสาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน