วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ความหมายของหลักสูตร



      หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หลักสูตรที่ดีต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้มีเนื้อหาสาระทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง     ซึ่งมีนักการศึกษาได้อธิบาย  และให้ความหมายการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
1.     ความหมายของหลักสูตร
          นักการศึกษา ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้อย่างหลากหลาย    ขึ้นอยู่กับทัศนะ ความเชื่อ  แนวคิด ปรัชญาและประสบการณ์ ซึ่งสามารถประมวลความหมายของหลักสูตรที่สำคัญได้ ดังนี้
          หลัก สูตรเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ปรัชญาหรือความมุ่งหมายทางการศึกษา บรรลุความมุ่งหมายเพราะหลักสูตรเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ อีกทั้งเป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมในอันที่จะนำประเทศไปสู่ความเจริญในทุกๆด้าน
                    
               คำว่า “หลักสูตร” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ Curriculum ” ได้มีนักวิชาการทางการศึกษาได้ให้คำนิยามหรือความหมายของหลักสูตรไว้หลายทัศนะดังนี้
                    ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 1272) กล่าวว่า หลักสูตร หมายถึงประมวลวิชาและกิจกรรมต่างๆที่กำหนดไว้ในสถานศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
                    ส่วน เกล็น  แฮนส์ (Glen Hass, 1980 อ้างถึงใน ธำรง บัวศรี, 2542 : 4)กล่าว ว่า หลักสูตรหมายถึงมวลประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากโปรแกรมการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยอาศัยกรอบของทฤษฎีและการวิจัยในอดีตและปัจจุบันเป็นพื้นฐาน
                    สำหรับ ธำรง บัวศรี (2542 : 7) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงจุดหมายการจัดเนื้อหา กิจกรรมและมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
                    นอกจากนั้น ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์ (2543 : 25) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรไว้  3 ประการคือ
                    1. หลักสูตรเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎี หลักการและการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งหมายไว้
                    2. หลักสูตรเป็นระบบในการจัดการศึกษาโดยมีปัจจัยนำเข้า(Input) ได้แก่ครูนักเรียน วัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ กระบวนการ(Process)ผลผลิต(Output)ได้แก่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความสำเร็จทางการศึกษา เป็นต้น
                    3. หลักสูตรเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มุ่งประสงค์จะอบรมฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
                    บ๊อบบิท (Bobbitt, 1981 อ้างถึงในบรรพต สุวรรณประเสริฐ, 2544 : 14)กล่าว ว่า หลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆซึ่งผู้เรียนและเยาวชนจะต้องทำและประสบโดยการพัฒนาความ สามารถเพื่อจะทำสิ่งต่างๆให้ดีและเหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่
                    ธีระ  รุญเจริญ (2550 : 280 ) ได้ให้จำกัดความของคำว่าหลักสูตรดังนี้
                    1. หลัก สูตร หมายถึง ประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดให้นักเรียนโดยการควบคุมแนะนำของสถานศึกษาอันเป็น เครื่องมือที่ช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ หรือความคาดหวังทางการศึกษาที่ตั้งไว้
                    2. หลัก สูตร เป็นสื่อในการสอนที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการ เรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
                   
                    ชุมศักดิ์  อินทร์รักษ์ (2551 : 47 ) ได้กล่าวสรุปว่า หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระสำคัญและกิจกรรมต่างๆ ที่สนองวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่พึง ประสงค์
                    จาก ความหมายของหลักสูตร ตามทัศนะของนักวิชาการทางการศึกษา สรุปได้ว่าหลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ ที่เป็นเนื้อหา สาระสำคัญ กิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข



 เซยเลอร์  อเล็กซานเดอร์  และเลวิส (Sayler, Alexander and Lewis. 1981 : 8)  ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ว่า  หลักสูตร  หมายถึง  แผนการเรียนการสอนที่จัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่บุคคลที่ได้รับการศึกษา
          บีน  และคนอื่นๆ  (Beane & others. 1986 : 34 - 35)  สรุปความหมายของหลักสูตรไว้โดยใช้เกณฑ์ความเป็นรูปธรรม  (Concrete) ไปสู่นามธรรม  (Abstract)  และจากการยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (School - centered) ไปสู่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner - centered) โดยได้อธิบายไว้  ดังนี้
                          1.     หลักสูตร  คือ  ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการศึกษา  (Curriculum  as  product)
                          2.     หลักสูตร  คือ  โครงการหรือแผนการในการจัดการศึกษา  (Curriculum  as  program)
                          3.     หลักสูตร  คือ  การเรียนรู้ที่กำหนดไว้อย่างมีความหมาย  (Curriculum  as  intended  learning)
                          4.     หลักสูตร  คือ  ประสบการณ์ของผู้เรียน  (Curriculum  as experience  of  the  learner)
        


  โอลิวา  (Oliva. 1992 : 8 – 9)  ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตร  โดยแบ่งเป็น
                          1.     การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์  (Purpose)  หลักสูตร  จึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไรหรือมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการ  ที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย  เช่น  หลักสูตร  คือ  การถ่ายทอด  มรดกทางวัฒนธรรม  หลักสูตร  คือ  การพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน   เป็นต้น
                          2.     การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม  (Contexts)  นิยามหลักสูตรในลักษณะนี้  เป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตร  ซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรมีลักษณะเป็นอย่างไร  เช่น  หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา  หลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหลักสูตรเพื่อการปฏิรูปสังคม  เป็นต้น
                          3.     การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการให้นิยามหลักสูตร  ในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ  ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน  เช่น  หลักสูตร  คือ  กระบวนการแก้ปัญหา  หลักสูตร  คือ  การทำงานกลุ่ม  หลักสูตร  คือ  การเรียนรู้รายบุคคล  หลักสูตร  คือ  โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน  เป็นต้น
          โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า  หลักสูตร คือ  แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียนโดยแผนงานต่างๆ จะถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร           มีขอบเขตกว้างขวาง  หลากหลาย  เพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (Course) หรือเป็นรายวิชาย่อย (Sequence of courses)    ทั้งนี้ แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าว อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ภายใต้การบริหารและดำเนินงานของสถานศึกษา
          โซเวลล์  (Sowell. 1996 : 5)  ได้กล่าวว่า   มีผู้อธิบายความหมายของหลักสูตรไว้อย่างมากมาย เช่น หลักสูตรเป็นการสะสมความรู้ดั้งเดิม เป็นวิธีการคิด เป็นประสบการณ์ที่ถูกกำหนดไว้  เป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้ เป็นความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นเนื้อหาและกระบวนการ  เป็นแผนการเรียนการสอน เป็นจุดหมายปลายทางและผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอนและเป็นผลผลิตของระบบ เทคโนโลยี เป็นต้น  โซเวลล์  ได้อธิบายว่า  เป็นเรื่องปกติที่นิยามความหมายของหลักสูตรมีความแตกต่างกันไปเพราะบางคนให้ ความหมายของหลักสูตรในระดับที่แตกต่างกันหรือไม่ได้แยกหลักสูตรกับการจัดการ เรียนการสอน แต่อย่างไรก็ตาม โซเวลล์ ได้สรุปว่า หลักสูตร คือ  การสอนอะไรให้กับผู้เรียน  ซึ่งมีความหมายที่กว้างขวาง  ที่รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร ทักษะ และ ทัศนคติ  ทั้งที่ได้กำหนดไว้และไม่ได้กำหนดไว้ให้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษา
          ชมพันธุ์   กุญชร   อยุธยา  (2540 : 3 – 5)  ได้อธิบายความหมายของ หลักสูตรว่า   มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ความหมายที่แคบสุดจนถึงกว้างสุด  ซึ่งสามารถจำแนกความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น  กลุ่มใหญ่ๆ  ได้ดังนี้
                           1.     หลักสูตร  หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียน  นักการศึกษาที่มีความคิดเห็นว่า  หลักสูตร หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียนนั้น  มองหลักสูตรที่เป็นเอกสารหรือโครงการของการศึกษาที่สถาบันการศึกษาไว้วางแผนไว้  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้  หลักสูตรตามความหมายนี้ หมายรวมถึง  แผนการเรียนหรือรายวิชาต่างๆ ที่กำหนดให้เรียนรวมทั้งเนื้อหาวิชาของรายวิชาต่างๆ กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนความคิดเห็นของนักการศึกษากลุ่มนี้ ไม่รวมถึงการนำหลักสูตรไปใช้หรือการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง
                           2.     หลักสูตร  หมายถึง  ประสบการณ์การเรียนของผู้เรียน  ที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย  จุดมุ่งหมาย  เนื้อหา  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การประเมินผล
          รุจิร์  ภู่สาระ  (2545 : 1)  ได้ อธิบายความหมายของหลักสูตรว่า  หมายถึง  แผนการเรียน ประกอบด้วยเป้าหมาย  และจุดประสงค์เฉพาะที่จะนำเสนอและจัดการเนื้อหา  รวมถึงแบบของการเรียนการสอนตามจุดประสงค์  และท้ายที่สุดจะต้องมีการประเมินผลของการเรียน
          นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA  ซึ่งหมายถึง
                - S (Curriculum as Subjects and Subject Matter) 
                      หลักสูตร คือ รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
                - O (Curriculum as Objectives)
                      หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
                 - P (Curriculum as Plans)
                       หลักสูตร คือ แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
                 - E (Curriculum as Learners, Experiences)
                       หลักสูตร คือ ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
                 - A (Curriculum as Educational Activities)
                       หลักสูตร คือ กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน
          หลักสูตรในความหมายเดิม จะหมายถึง รายวิชาต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องเรียนส่วนความหมายใหม่ จะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้คำแนะนำ และความรับผิดชอบของโรงเรียน
          หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่นักเรียน
4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
5. หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
           นอกจากนั้นยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับหลักสูตรอีก เป็นต้นว่า
          1. โปรแกรมการเรียน (A Program of Studies) คำนี้ใช้แทนความหมายของหลักสูตร ซึ่งคนทั่ว ๆไปใช้ คล้ายกับรายการเรียงลำดับรายวิชา ปัจจุบันยังมีการใช้คำนี้ในการ จัดการศึกษาอุดมศึกษาโดยการจัดลำดับรายวิชา
          2. เอกสารการเรียน (A Docment) เป็นการให้ความหมายของหลักสูตร ตามจุดมุ่งหมายที่ จะให้ศึกษา เพื่อเสนอต่อผู้มาติดต่อที่สถานศึกษา
          3. แผนการจัดกิจกรรม (Planned Experiences) หมายถึง กิจกรรมทั้งมวลที่โรงเรียน จัดให้นักเรียนและการวางแผนหลักสูตรเป็นการเตรียมการให้โอกาสกับผู้เรียน
          4. หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า
          หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ หลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน ส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการ หลักสูตรจะระบุสิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ (เนื้อหา)
          จากแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่านดังกล่าวพบว่า    มีการให้นิยามแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ที่ใช้ในการอธิบายแตกต่างกัน  ในการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า  หลักสูตร หมายถึง  แนวการจัดประสบการณ์ และ/หรือ เอกสาร ที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษา โดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลัก สูตรกำหนดไว้    
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน