วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้

การนำหลักสูตรไปใช้

            การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนและจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับกระทรวงถึงสถานศึกษา การนำหลักสูตรไปใช้มีความสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ความสามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดสมความมุ่งหมายทุกประการ


ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้
       การนำหลักสูตรไปใช้เป็นการปฏิบัติงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ทำให้การให้ความหมายของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้แตกต่างกันออกไป นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือให้คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้

            โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 164) ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่าการนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน

            สันต์ ธรรมบำรุง (2527: 120) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล และรวมถึงการบริหารงานด้วยวิชาการของโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            สงัด อุทรานันทร์ (2532: 260) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน ได้แก่การจัดเอกสารประกอบหลักสูตร การเตรียมบุคลากร การบริหารและบริการหลักสูตร และการนิเทศการใช้หลักสูตร

            รายงานการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชีย (APEID, 1977: 3) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรไปจนถึงการอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้มีสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมที่จะนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

            สุมิตร คุณานุกร (2520: 130) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้เป็นกระบวนการที่ทำให้หลักสูตรกลายเป็นการปฏิบัติจริง และเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและมีกิจกรรมที่จะกระทำได้ ประการ คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน
  2. การจัดปัจจัยและสภาพต่างๆ ภายในโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร
  3. การสอนของครู

จากความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ พอสรุปได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน



การนำหลักสูตรไปใช้
การนำหลักสูตรไปใช้เป็นกระบวนการที่สำคัญ  ในการนำองค์ประกอบต่างๆ  ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร  เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  การนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้หลักสูตรบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
หลักการของการนำหลักสูตรไปใช้
  1. การนำไปใช้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง  ระยะสั้นและระยะยาว
  2. มีการติดตามผล  และปรับปรุงพัฒนา  เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขี้น
  3. ต้องมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านวิชาชีพครู  ในทุกด้าน
  4. ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรในระดับต่างๆ  มีหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิควิธี
  5. เมื่อพบปัญหาในการนำไปใช้  ควรดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดจากการนำหลักสูตรไปใช้โดยวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุในทุกส่วน  ที่มีความเกี่ยวข้อง
  6. สร้างแผนงานที่จะนำหลักสูตรไปใช้
  7. ผลงานของการนำหลักสูตรไปใช้  ต้องพิจารณาถึงความก้าวหน้าและประโยชน์ที่ได้รับ ก่อให้เกิดกำลังใจในการทำงาน
กิจกรรม/งานที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้
สงัด อุทรานันท์ (2532 : 263-271) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีงานหลัก 3 ประการ คือ
  1. งานบริหารและบริการหลักสูตร จะเกี่ยวข้องกับ งานเตรียมบุคลากร การจัดครูเข้าสอนตามหลักสูตร การบริหารและบริการวัสดุหลักสูตร การบริการหลักสูตรภายในโรงเรียน
  2. งานดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรประกอบด้วย การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น การจัดทำแผนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
  3. งานสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตรประกอบด้วย การนิเทศและติดตามผลการใช้หลักสูตรและการตั้งศูนย์บริการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร
ขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้
  1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร
– การตรวจสอบลักษณะหลักสูตร
– การวางแผนและการทำโครงการศึกษานำร่อง
– การประเมินโครงการศึกษานำร่อง
– การประชาสัมพันธ์หลักสูตร
– การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  1. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร
– การบริหารและบริการหลักสูตร
-การดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร
– การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร
  1. ขั้นติดตามและประเมินผล
– การนิเทศและการใช้หลักสูตรในโรงเรียน
– การติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร
การประเมินหลักสูตร
  1. การตรวจสอบประสิทธิผลและความตกต่ำของคุณภาพของหลักสูตร
  2. การตรวจสอบหาเหตุที่ทำให้คุณภาพตกต่ำ
  3. แก้ไขและตรวจสอบประสิทธิผลของวิธีการที่นำมาแก้ไข
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้

  1. นักวิชาการ  นักวิชาการและศึกษานิเทศก์ให้บุคคลที่ให้การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ  ประสานงาน  ให้คำแนะนำ
  2. ผู้บริหารโรงเรียน  ให้การสนับสนุนการนำหลักสูตรไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ  ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร  สามารถบริหารหลักสูตร
  3. หัวหน้าหมวด  ดำเนินการส่งเสริมการใช้หลักสูตรต้องมีความเข้าใจหลักสูตรในสาระที่ตนรับผิดชอบ  และวางแผนดำเนินงานการใช้ระดับของตนเองได้อย่างเหมาะสม  มีประสิทธิภาพ
  4. ครูผู้สอน ในฐานะเป็นผู้ใช้หลักสูตรโดยตรงและโดยอ้อมคือเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ  และเป็นผู้ติดตามการใช้หลักสูตรอย่างใกล้ชิด
  5. บุคลากรอื่น  ทั้งภายในสถานศึกษาและภายนอกสถานศึกษา  ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการใช้หลักสูตร  และเสนอแนะความคิดเห็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน