วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

หลักสูตรบูรณาการ


หลักสูตรบูรณาการ
หลักสูตรบูรณาการ (The Integrated Curriculum) เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรกว้างโดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาหลอมรวม ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป การผสมผสานเนื้อหาของวิชาต่างๆ เข้าเป็นเนื้อเดียวกันทำได้หลายวิธี ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไปอย่างไรก็ตามที่มีการจัดทำหลักสูตรบูรณาการขึ้นไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของหลักสูตรหลายวิชาเท่านั้นมีเหตุผลและความคิดพื้นฐานซึ่งสนับสนุนอยู่ด้วยจะขออธิบายให้ทราบโดยสังเขปดังต่อไปนี้
1. เหตุผลและพื้นฐานความคิด
1.1 เหตุผลทางจิตวิทยาและวิชาการ
ก. โดยธรรมชาติเด็กหรือผู้เรียนจะมีความสนใจ และมีความกระตือรือร้นในการที่จะแสวงหาความรู้และสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอสมองของเด็กจะไม่จำกัดอยู่กับ การเรียนรู้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการแสวงหาความรู้ก็จะเรียนรู้หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้หลักสูตรบูรณาการจึงเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมเพราะจะสามารถสนองความต้องการของเด็กหรือผู้เรียนได้
ข. จากผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการทางปัญญาของเด็กในชั้นประถมศึกษา แสดงว่าพัฒนาการทางปัญญาจะดำเนินไปเป็นขั้นๆ แต่ละขั้นจะแตกต่างกันไปและพัฒนาการของแต่ละคนก็จะมีอัตราความเจริญต่างกัน แต่ที่สำคัญคือพัฒนาการนั้นจะดำเนินไปด้วยดีในเมื่อเด็กหรือผู้เรียนได้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง ยิ่งประสบการณ์มีความหลากหลายเพียงใด โอกาสในการพัฒนาการก็ยิ่งมีมากเพียงนั้น เมื่อมาพิจารณาดูหลักสูตรบูรณาการที่มีลักษณะครอบคลุมวิชาหลายวิชาก็จะเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์หลายด้าน
ค. หลักสูตรบูรณาการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับสื่อการเรียนการสอนหลายๆ อย่างและให้ได้มีโอกาสแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ อนึ่งแบบฉบับของหลักสูตรยังกระตุ้นและสนองความต้องการทางปัญญาและอารมณ์ของผู้เรียนได้ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องกันไปการเรียนการสอนจะต้องดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมความคิดริเริ่มหลักสูตรแบบนี้ทำได้ดีมากส่วนดีอีกประการหนึ่งของหลักสูตรคือช่วยลดภาวะที่จะต้องท่องจำลงไปอย่างมาก
1.2 เหตุผลทางสังคมวิทยา
ก. เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การศึกษาจะเกิดผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อให้ผู้เรียนสามารถตอบปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ด้วยเหตุนี้หลักสูตรจึงต้องเป็นหลักสูตรสนับสนุนสิ่งดังกล่าวซึ่งคุณสมบัตินี้มีอยู่ในหลักสูตรบูรณาการกล่าวคือ ประสานสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ใช้ปัญหาหรือกิจกรรมเป็นศูนย์กลางของหลักสูตรอันจะมีผลให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทักษะและเจคติความต้องการของชีวิต 
1.3 เหตุผลทางการบริหาร
ก. หลักสูตรบูรณาการช่วยให้ลดตำราเรียนได้ คือแทนที่จะแยกเป็นตำราสำหรับ           แต่ละวิชา ซึ่งทำให้ต้องใช้ตำราหลายเล่ม ก็อาจรวมเนื้อหาของหลายวิชาไว้ในตำราเล่มเดียวกันและยังสามารถทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่ขาดแคลนครู หลักสูตรบูรณาการซึ่งอาศัยการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นหลักจะช่วยให้ครูหนึ่งคนสามารถสอนได้มากกว่าหนึ่งชั้นในเวลาเดียวกัน
การผสมผสานวิชาเพื่อให้ได้หลักสูตรบูรณาการ ทำได้หลายวิธีหลายรูปแบบ ดังนั้น                การตีความหมายของหลักสูตรจึงทำได้อยาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งก็คือหลักสูตรนี้ก้าวข้ามขั้นจากวิธีการที่รวมวิชาเข้าด้วยกันแบบธรรมดา ที่ยังทิ้งร่องรอยของวิชาเดิมไว้ แต่เป็นการหลอมรวมในลักษณะที่เอกลักษณ์ของวิชาเดิมไม่คงเหลืออยู่เลย ดังนั้นความรู้หรือทักษะที่ผู้เรียนได้รับจึงเกิดจากการเรียนรู้หลายวิชาในขณะเดียวกัน ตามแนวความคิดข้างบนนี้อาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรบูรณาการคือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นสหวิทยาการ(Inter-disciplinary) คือมีการผสมผสานอย่างกลมกลืน แนบแน่นระหว่างองค์ ประกอบการเรียนรู้ทุกด้านอันได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย และมีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Inter-disciplinary Learning) ด้วย
ในบางตำรากล่าวว่าหลักสูตรบูรณาการ คือหลักสูตรที่โครงสร้างของเนื้อหาวิชามีลักษณะเป็นหัวข้อหรือกิจกรรม หรือปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ
หลักสูตรบูรณาการที่มีใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย  มีทั้งที่เป็นหลักสูตรบูรณาการเต็มรูปและไม่เต็มรูป มีหลายประเทศที่เห็นว่าวิชาประเภททักษะเช่น คณิตศาสตร์ และภาษาถ้าจะจัดการเรียนการสอนให้เกิดผลดี ควรจัดหลักสูตรเป็นแบบรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง
2. ลักษณะของหลักสูตรบูรณาการที่ดี
ในการผสมผสานวิชาหรือสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้ได้หลักสูตรบูรณาการนั้น ถ้าจะให้ดีจริงๆนักพัฒนาหลักสูตรจะต้องพยายามให้เกิดบูรณาการในลักษณะต่อไปนี้โดยครบถ้วนคือ
1. บูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้ แต่เดิมเมื่อสภาพและปัญหาสังคมยังไม่สลับซับซ้อน และปริมาณเนื้อหาก็ยังไม่มีมากนัก การเรียนรู้ซึ่งใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้อย่างง่ายๆ เช่นการบอกเล่า การบรรยาย และการท่องจำ อาจทำได้โดยไม่มีปัญหาอะไรในกรณีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับกระบวนการเรียนรู้เกือบไม่มีอยู่เลยและการเรียนรู้ก็นับว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ในปัจจุบันปริมาณความรู้มีมาก สภาพและปัญหาสังคมสลับซับซ้อน  การเรียนรู้จะกระทำอย่างเดิมย่อมไม่ได้ผลดี ถ้าจะให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพเราจำเป็นต้องให้กระบวนการการเรียนรู้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความรู้ ทั้งนี้หมายความว่าผู้เรียนจะต้องทราบว่าตนจะแสวงหาความรู้ได้อย่างไรและด้วยกระบวนการอย่างไร
2. บูรณาการระหว่างพัฒนาการทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ มีผู้กล่าวตำหนิว่าการศึกษามักจะให้ความเอาใจใส่ต่อการพัฒนาจิตใจน้อยไป คือมุ่งในด้านพุทธิพิสัยอันได้แก่ความรู้ความคิดและการแก้ปัญหา มากกว่าด้านจิตพิสัย คือ เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ และความสุนทรียภาพซึ่งตามความเป็นจริงแล้วทั้งพุทธิพิสัยและจิตพิสัยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะการเรียนรู้วิชาการหรือทักษะในด้านหนึ่งด้านใดโดยปราศจากความรู้สึกในคุณค่าของสิ่งที่เรียน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกันถ้าผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สร้างความรู้สึกพึงพอใจและประทับใจ ก็จะมุ่งมั่นในการเรียนและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้การสร้างบูรณาการระหว่างความรู้และจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น
3. บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ การสร้างสหสัมพันธ์ระหว่างความรู้และ                การกระทำมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระหว่างความรู้และจิตใจ โดยเฉพาะในด้านจริยศึกษา                การเรียนรู้เรื่องค่านิยมและการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเลือกค่านิยมที่เหมาะสมจะปรากฏผลดีหรือไม่ยอมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมหรือการแสดงออกของผู้เรียน การแยกความรู้ออกจากการกระทำก็เหมือนกับการแยกหลักสูตรออกเป็นส่วนๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการบูรณาการความรู้และการกระทำเข้าด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
4. บูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าหลักสูตรดีหรือไม่ดี คือผลที่เกิดแก่คุณภาพของชีวิตผู้เรียน ด้วยเหตุนี้การบูรณาการวิชาต่างๆ ในหลักสูตรเราจึงต้องแน่ใจว่าสิ่งที่สอนในห้องเรียนนั้นมีความหมายและมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้เรียนไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใด การที่ให้เกิดผลดังกล่าวได้ หลักสูตรจะต้องกำหนดให้ความสนใจและความต้องการมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน และให้เป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนการสอน
5. บูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ ถ้าเรายอมรับว่าบูรณาการระหว่างความรู้กับจิตใจ และระหว่างความรู้กับการกระทำเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เราก็ย่อมจะมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญของการที่จะบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันซึ่งอาจทำได้โดยนำเอาเนื้อหาของวิชาหนึ่งมาเสริมอีกวิชาหนึ่ง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้และเกิดเจตคติตามที่ต้องการ หรือโดยกำหนดปัญหาหรือความต้องการของผู้เรียนเป็นหัวข้อแล้วกำหนดหลักสูตรหรือโปรแกรมการเรียนการสอนขึ้น โดยอาศัยเนื้อหาของหลายๆ วิชามาช่วยในการแก้ปัญหานั้น
3. รูปแบบของบูรณาการ
หลักสูตรบูรณาการเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้มี 3 รูปแบบ แต่ในการปฏิบัติจริงมักจะมีการผสมกันระหว่างรูปแบบต่างๆ ที่นำมาจำแนกให้เห็นก็เพื่อความเข้าใจว่าพื้นฐานที่แท้จริงของแต่ละรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร
1. บูรณาการภายในหมวดวิชา เราได้ทราบแล้วว่าหลักสูตรกว้างนั้นเป็นหลักสูตรที่ได้มี           การนำเอาวิชาหลายๆ วิชามารวมกันในลักษณะที่ผสมกลมกลืน แทนที่จะนำเอาเนื้อวิชามาเรียงลำดับกันเฉยๆ ตัวอย่างเช่น ในวิทยาศาสตร์ทั่วไป ได้มีการนำเอาเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา มารวมกัน และต่อมาก็นำเอาวิชาโภชนาการ สุขศึกษา และสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานด้วย หรือในวิชาสังคมศึกษา ก็นำเอาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง จริยศึกษา ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแนวความคิดของหลักสูตรที่ว่าการเรียนรู้ต้องมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ
2. บูรณาการ ภายในหัวข้อ และโครงการ หลายประเทศในเอเชียนิยมใช้วิธีการแบบนี้คือ           การนำเอาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ของวิชาหรือหมวดวิชาตั้งแต่สองวิชาหรือหมวดวิชาขึ้นไป มาผสมผสานกันในลักษณะที่เป็นหัวข้อหรือโครงการ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนและในแต่ละหัวข้อจะมีการแบ่งเป็นหน่วยการเรียน (Units of Learning) ด้วยทำให้เกิดหลักสูตรบูรณาการที่เราเรียกว่า หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (The Social Process and Life Function Curriculum)
3. บูรณาการโดยการผสมผสานปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและของสังคม หลักสูตรที่ใช้การผสมผสานแบบนี้ ความจริงก็มีรูปแบบเหมือนอย่างสองแบบแรกที่ได้กล่าวมาแล้วคืออาจผสมผสานภายในหมวดวิชาหรือภายในหัวข้อและโครงการก็ได้ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือหัวข้อหรือหน่วยการเรียน หรือโครงการจะเน้นการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของผู้เรียนไม่ว่าปัญหาส่วนตัว ปัญหาชุมชน ปัญหางานอาชีพ ปัญหาสังคม ฯลฯ ตัวอย่างของหัวข้อหรือหน่วยการเรียนได้แก่ “มลภาวะจากอากาศ น้ำและเสียง” “การตกต่ำของผลผลิตทางการเกษตรกรรม” “การตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ” “สภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ” “โรคที่สำคัญ”ฯลฯ
ในการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นนี้ ผู้เรียนจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้จากวิทยาการต่างๆ หลายสาขา รวมทั้งต้องมีทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาด้วย การเรียนรู้จึงมีลักษณะเป็นบูรณาการเนื่องจากต้องผสมผสานวิชาต่างๆ ในการแก้ปัญหาสิ่งที่ปรากฏชัดในการเรียนรู้

 ปัจจุบันยังมีการกล่าวขานถึงหลักสูตรบูรณาการกันอยู่ และค่อนข้างบ่อยขึ้น อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะเดิมๆ คือ การบูรณาการภายในวิชา (intradisciplinary) และบูรณาการระหว่างวิชา (interdisciplinary) ซึ่งมีความหมายเฉพาะการบูรณาการเนื้อหาวิชาเท่านั้น แท้จริงการบูรณาการหลักสูตรทำได้หลายลักษณะ ดังนี้
1.      การบูรณาการวิชา (Integrated by subjects) เป็นการบูรณาการระดับที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีผลกระทบต่อการจัดโครงสร้างหลักสูตรและการบริหารจัดการวิชาที่มีการบูรณาการกันบ่อยมากคือ วิชาสังคมศึกษากับวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับชีวิตและนักเรียนสัมผัสพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนการบูรณาการวิชาอื่นๆ ที่พบได้อีก เช่นวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์กับภาษาไทย เป็นต้น การบูรณาการเฉพาะบางช่วงชั้น หรือตลอดทุกช่วงชั้นก็ได้ แต่ช่วงชั้นที่ทำหลักสูตรบูรณาการมากที่สุด ได้แก่ ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย มักบูรณาการในระดับกรเรียนการสอน รายวิชามากกว่า เพราะต้องการให้นักเรียนมีความรู้สึกในวิชานั้นๆ แต่ก็จะมีการเพิ่มเติมโดยให้นักเรียนทำโครงงานที่บูรณาการหลายวิชาไว้ด้วยกัน
2.      จำนวนวิชาในหลักสูตรบูรณาการ มักเน้นเฉพาะวิชาหลักที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับชีวิตจริงวิชาหลักที่นำมาจัดเสมอ คือ วิชาการใช้ภาษา (ซึ่งบางครั้งแยกเป็นวิชาการอ่าน และวิชาการเขียน) วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา และวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อสถานศึกษาประสงค์จะจัดหลักสูตรแบบบูรณาการรายวิชา ครูที่สอนจะต้องวางแผนร่วมกันกำหนดหัวข้อเรื่อง (Themes) หรือประเด็นคำถามสำคัญ (Essential questions) สร้างกิจกรรมหรือเรื่องราวที่นำชีวิตจริง สภาพการณ์ที่เป็นจริงมาเป็นตัวตั้งในการทำหน่วยการเรียน
3.      บูรณาการการเรียนการสอน (Integrated by Learning management) 
o    บูรณาการทักษะ (Integrated by skills) บูรณาการในลักษณะนี้เป็นได้ทั้งภายในวิชาเดียวกันหรือบูรณาการหลายวิชา ที่บูรณาการทักษะในวิชาเดียวกัน เช่น บูรณาการทักษะการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การสรุป การนำเสนอ ในวิชาภาษาที่บูรณาการทักษะในหลายวิชา เช่น ทักษะการคิด ทักษะการจัดการ และทักษะการวิจัย (ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต) เป็นต้น วิชาที่มักบูรณาการด้วยทักษะ จำเป็นต้องมีการวางแผนร่วมกัน เพราะเกี่ยวข้องกับผู้สอนหลายวิชา ผู้สอนจะต้องมาตกลงกันเกี่ยวกับเนื้อหา ลำดับความยากง่าย จะแยกสอนเป็นวิชาหรือสอนเป็นทีม ครูต้องร่วมกันกำหนดคำถามสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และทักษะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนให้ครบถ้วนและเหมาะสม อีกทั้งให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่จะเรียนด้วย

การบูรณาการลักษณะนี้ใช้การจัดการเรียนการสอนที่เน้นโครงงาน (Projects) ประเด็นปัญหา (Issues) สภาพชุมชน (Community) อาชีพ (Careers) หรือแม้แต่ศาสนา การจัดทำหลักสูตรในลักษณะโมดูล (Modules) ก็อยู่ในประเภทนี้
o     
o    บูรณาการสื่อเทคโนโลยี (Integrated by technology) การจัดหลักสูตรโดยนำสื่อเทคโนโลยีมาบูรณาการนั้นน่าจะทำได้ง่ายและจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะทุกวิชาสามารถใช้เทคโนโลยีบูรณาการในการเรียนการสอนได้ แม้แต่วิชาเทคโนโลยีเองก็ใช้เนื้อหาวิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ฯลฯ เป็นสื่อการเรียนรู้ได้ บูรณาการในลักษณะนี้ เรียกว่า เป็นบูรณาการแบบคู่ขนาน การบูรณาการโดยแหล่งเรียนรู้ก็จัดอยู่ในประเภทนี้
4.      การบูรณาการบริหารจัดการ (Integrated by management) ตัวอย่างของการบูรณาการประเภทนี้ เช่น การนำนักเรียนมาเรียนรวมกัน (Cross-age integrated curriculum) การให้ผู้สอนสอนร่วมกัน (Team teaching) เป็นต้น การจัดหลักสูตรอาจแยกเป็นรายวิชาหรือจัดแบบบูรณาการวิชาก็ได้ แต่วิธีที่เหมาะน่าจะเป็นการจัดหลักสูตรแบบโมดูล
         สำหรับขอบเขตและการจัดลำดับการเรียนรู้ในหลักสูตรบูรณาการทุกแบบ เป็นสิ่งปกติที่ครูต้องคำนึงถึงคือ ความยากง่ายตามระดับชั้นและวัย ความซับซ้อนจากน้อยไปหามาก หรือจากสิ่งใกล้ตัวไปสู่ไกลตัว อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำหลักสูตรบูรณาการ มักจะกระทำสิ่งต่อไปนี้ด้วย คือ


1.      จัดการเรียนการสอนโดยใช้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับชีวิตเป็นตัวตั้ง จัดเนื้อหาในลักษณะหัวข้อเรื่องหรือโครงงาน หรือบูรณาการโดยเน้นสิ่งที่ต้องการใช้ผู้เรียนเรียนรู้ เช่น ศาสนา เทคโนโลยี เป็นต้น
2.      มีการวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ครูต่างคนต่างทำ มิฉะนั้นจะเกิดความซับซ้อน แม้จะใช้การบูรณาการแบบคู่ขนานคือ ครูต่างคนต่างสอนโดยนำเนื้อหาของอีกวิชาหนึ่งมาบูรณาการ แต่ก็ต้องตกลงกันในส่วนของเนื้อหาที่จะนำไปบูรณาการเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน
3.      ไม่ว่าจะบูรณาการด้วยวิธีใดก็มักใช้วิธีการสอนแบบกำหนดหัวข้อเรื่อง (Themes) เป็นส่วนใหญ่ เพราะ 1. ผู้เรียนเข้าใจง่ายและเห็นความเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง 2. สามารถบูรณาการได้มากว่า 2 รายวิชา
4.      ในการจัดการเรียนการสอนย่อมหนีไม่พ้นการประเมินผล ซึ่งต้องควบคู่ไปด้วยกัน คำถามชวนคิดก็คือ การประเมินผลการเรียนการสอนแบบบูรณาการล่ะทำอย่างไรได้บ้าง คำตอบคือ
o    ประเมินผลด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น สังเกตพฤติกรรมแล้วบันทึกผลสังเกต ใช้แบบทดสอบ ให้ตอบคำถามย่อยๆ ท้ายบทให้ทำโครงงาน/ชิ้นงาน/สิ่งประดิษฐ์ ให้นำเสนอผลงาน หรืออภิปรายผลงานของตนหรือของเพื่อน เป็นต้น
o    ประเมินโดยบูรณาการพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ ไปพร้อมๆ กัน จากการใช้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติงาน สร้างชิ้นงาน แล้ววัดความรู้และทักษะจากกการให้สาธิตและแสดงผลงาน วัดเจตคติจากการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน
o    ประเมินจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ประเมินจากผลงานหลายๆ ชิ้น ประเมินจากการทำงานกลุ่มหลายๆ ครั้ง ประเมินทักษะการทำงานจากความคล่องแคล่วและความชำนาญ

แผนภาพการบูรณาการหลักสูตร
5.       
6.      ประเมินโดยการบูรณาการทักษะที่ต้องการวัด เช่น บูรณาการความรู้กับทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างที่สอดคล้องกัน บูรณาการทักษะกับค่านิยม เป็นต้น
7.      ประเมินจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ครู นักเรียน(ประเมินตนเอง) เพื่อน ผู้ปกครอง เป็นต้น
         จากการวิเคราะห์สังเคราะห์ แผนการสอนหรือหน่วยการเรียนรู้ทั้งหลาย พบว่า การประเมินผลการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะเกิดขึ้นควบคู่กับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและประเมินโดยการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง (Performance Assessments) แล้วประเมินจากชิ้นงาน/ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขณะกำลังปฏิบัติ ความรู้ที่ได้จากการนำเสนอผลงาน ตอบคำถามได้ชัดเจนมีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุน ดังนั้น เครื่องมือการประเมินผลการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุด คือ Rubrics (วิธีการให้คะแนนที่สามารถบูรณาการสิ่งที่ต้องการประเมินได้มากกว่า 2 ลักษณะขึ้นไป)

ตัวอย่างการประเมินโดยใช้ Rubrics



ครูมอบหมายให้ผู้เรียนทำโครงงานและนำเสนอโดยใช้สื่อผสม (ประเมินภาพรวม) การประเมินต้องเป็นแบบบูรณาการ จึงจะเหมาะสมโดย
·         ประเมินความรู้ที่ได้ ทักษะการนำเสนอและเจตคติต่อสิ่งที่เรียนพร้อมๆ กัน (ประเมินจากการนำเสนอผลงาน)
·         ประเมินทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการค้นคว้า (ประเมินจากการปฏิบัติร่วมกัน)
·         ประเมินทักษะการใช้ภาษา กับทักษะการใช้เทคโนโลยี และทักษะการแสวงหาความรู้ (ประเมินจากการรายงานหน้าชั้นเรียน)
·         ประเมินจากทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบภาวะผู้นำ-ผู้ตาม การคาดการณ์และการแก้ปัญหา (ประเมินจากการปฏิบัติงานกลุ่มแต่ละครั้ง)
·         ประเมินโดยตัวนักเรียนเอง ประเมินโดยเพื่อน และประเมินโดยครู โดยประเมินในประเด็นเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ เพื่อดูความสอดคล้องของผลการประเมิน
การประเมินความสามารถในการพูดต่อหน้าประชุมชน (ประเมินเฉพาะด้าน) สามารถประเมินผลแบบบูรณาการได้โดย
·         ประเมินทักษะการใช้ภาษา ทักษะการพูด (โน้มน้าวดึงดูดใจผู้ฟัง) ทักษะการปรับตัว และบุคลิกภาพ (ประเมินหลายทักษะในกลุ่มเดียวกัน) 
·         ประเมินความรู้ (ความถูกต้องในเนื้อหา) การนำเสนอ การใช้เทคโนโลยี (บูรณาการความรู้และการใช้เทคโนโลยี)

สรุป คือ วิธีการประเมินผลการเรียนการสอนที่ดีที่สุดคือ การประเมินจากการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง (Performance Assessments) และใช้ Rubrics เป็นแนวทางในการให้คะแนน ซึ่งการกำหนดเกณฑ์การประเมินต้องคำนึงถึงผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และความสามารถของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน