วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

หลักสูตรประสบการณ์





หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum)
หลักสูตรประสบการณ์และการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน
หลักสูตรประสบการณ์ (The Experience Curriculum) เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรรายวิชาหรือหลักสูตรกว้าง ล้วนไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนเท่าที่ควร พื้นฐานความคิดของหลักสูตรนี้มีมาตั้งแต่สมัยรุซโซ (Rousseau) และเพลโต (Plato) แต่ได้นำมาปฏิบัติจริงเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เองนับเป็นก้าวแรกที่ยึดเด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
              แรกที่เดียวหลักสูตรนี้มีชื่อว่าหลักสูตรกิจกรรม (The Activity Curriculum) ที่เปลี่ยนชื่อไปก็เนื่องจากได้มีการแปลเจตนารมณ์ของหลักสูตรผิดไปจากเดิม กล่าวคือ มีบุคคลบางกลุ่มคิดว่าถ้าให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรผู้เรียนก็จะเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เข้าทำนองว่าขอให้ทำกิจกรรมก็เป็นใช้ได้ (Activity for activity sake) ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดว่าควรเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ประกอบกันในระยะนั้นทฤษฎีเปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรประสบการณ์ ต่อมาภายหลังเมื่อ วิลเลี่ยมคิลแพทริก (William Kilpatrick) นำเอาความคิดเรื่องการจัดประสบการณ์ในรูปการสอนแบบโครงการเข้ามาหลักสูตรนี้ก็ได้ชื่อเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่งว่า หลักสูตรโครงการ (The Project Curriculum) อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในที่นี้เราจะใช้ชื่อหลักสูตรประสบการณ์เพียงชื่อเดียว

การจำแนกประเภทของหลักสูตร
ในปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทหรือรูปแบบของหลักสูตรไว้หลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีแนวคิดจุดมุ่งหมาย และโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ การจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่หลากหลาย หรือเพื่อให้สนองเจตนารมณ์ของการจัดการเรียนรู้ลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามระดับการศึกษา ดังนั้นหลักสูตรแต่ละรูปแบบจึงมีลักษณะเฉพาะของตนเอง รวมทั้งต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบของหลักสูตร (curriculum desigh)               แบบต่าง ๆ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 รูปแบบได้ดียิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดประเภทรูปแบบของหลักสูตร ตามเกณฑ์ที่ยึดเป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. หลักสูตรที่ยึดสาขาวิชาและเนื้อหาสาระเป็นหลัก (disciplines / subjects curriculum) กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการจัดเนื้อหาสาระวิชาที่จะเรียน มีรูปแบบของหลักสูตร 5 รูปแบบ ดังนี้
                 1.1 หลักสูตรรายวิชา หรือหลักสูตรเนื้อหาวิชา (subject matter curriculum)
                 1.2 หลักสูตรกว้าง หรือหลักสูตรหมวดวิชา (broad field curriculum) หรือ
หลักสูตรหลอมรวมวิชา(fusion curriculum)
     1.3 หลักสูตรสัมพันธ์วิชา หรือหลักสูตรแบบสหสัมพันธ์ (correlated curriculum)
                 1.4 หลักสูตรแบบแกนกลาง หรือหลักสูตรแบบแกนร่วมกัน หรือหลักสูตรแบบแกน (core curriculum)
                 1.5 หลักสูตรแบบบูรณาการ (integrated curriculum)
2. หลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นหลัก (learners centred) หลักการของหลักสูตรนี้ยึด ผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดหลักสูตรเพื่อสนองความต้องการ ความสามารถและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก มีรูปแบบของหลักสูตร 3 รูปแบบดังนี้
                 2.1 หลักสูตรแบบเอกัตบุคคล (individualized curriculum)
     2.2 หลักสูตรแบบส่วนบุคคล (personalized curriculum)
                 2.3 หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน (child – centered curriculum) หรือหลักสูตรที่ใช้
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (leaner – centred curriculum)
            3. หลักสูตรที่ยึดกระบวนการทางทักษะหรือประสบการณ์เป็นหลัก (process skill or experiencecurriculum) การจัดหลักสูตรประเภทนี้เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และให้ผู้เรียนได้รู้จักการแก้ปัญหา ถ้าเป็นหลักสูตรที่ยึดกระบวนการเป็นหลักจะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนมีรูปแบบของหลักสูตร 3 รูปแบบ ดังนี้
                 3.1 หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม หรือหลักสูตรที่ยึดกิจกรรมกระบวนการทาง
สังคมและการดำรงชีวิต (socialprocess and life function curriculum)
                 3.2 หลักสูตรประสบการณ์ (experience curriculum) หรือหลักสูตรแบบกิจกรรมและประสบการณ์ (activity and experience curriculum)
                 3.3 หลักสูตรกระบวนการ (the process approach curriculum)
                 3.4 หลักสูตรเกณฑ์ความสามารถ (the competency – based curriculum)

หลักสูตรประสบการณ์
หลักสูตรประสบการณ์ (experience curriculum) เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะแก้ไขการเรียนรู้แบบครูเป็นผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียนซึ่งเป็นข้อบกพร่องของหลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา  หลักสูตรแบบนี้ยึดหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหา แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ  ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ ( Learning by Doing)

ลักษณะของหลักสูตรประสบการณ์
1. ความสนใจของผู้เรียนเป็นตัวกำหนดเนื้อหา กิจกรรม หรือประสบการณ์ ต้องสอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน
2. วัตถุประสงค์ของการเรียนแบบนี้ เพื่อมุ่งปรับปรุงความเป็นอยู่ในปัจจุบันของเด็ก ยิ่งกว่าที่จะเตรียมตัวเพื่ออนาคต
3. วิชาที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนคือวิชาที่ผู้เรียนมีความสนใจร่วมกัน ดังนั้นจึงกำหนดเนื้อหาจากความสนใจของผู้เรียนเป็นคราว ๆ ไป ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า
4. ใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นหลักในการจัดการเรียนรู้
5. มุ่งที่จะให้การศึกษาและเอาใจใส่ต่อนักเรียนเป็นรายบุคคล และส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคล
6. การเรียนแบบประสบการณ์ในต่างโรงเรียน ต่างชั้นกันย่อมไม่เหมือนกัน การเรียนแบบนี้นักการศึกษาทำไปต่าง ๆ  กัน แต่ก็สามารถรวบรวมเข้าเป็น 2 พวก คือ
     6.1 ใช้ปัญหาในชีวิตปัจจุบันเป็นหลัก คือให้ครูและเด็กร่วมมือกันวางโครงการที่จะหาและเลือกเอาปัญหาที่มีความหมายต่อผู้เรียน และเป็นปัญหาในชีวิตจริง ปัญหานี้จะต้องเหมาะสมกับวุฒิภาวะ ความต้องการ และความสนใจด้วย
     6.2 ใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก สถานการณ์ที่จะจัดขึ้นสำหรับการเรียนแบบนี้จะต้องคำนึงถึง
            - เป็นสถานการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความสามารถแสดงออกมา
                        - ให้เด็กได้ร่วมมือในกิจกรรมของสังคม หรือส่วนรวม
                        - ให้เด็กมีทักษะและความสามารถที่จะปรับตัวและจัดการกับสิ่งแวดล้อม

การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning)
การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน ครูต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญและพยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการกระทำ ครูจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  เน้นการแก้ปัญหา ครูต้องทำหน้าที่เป็น                      นักวางแผน นักจิตวิทยา นักแนะแนว และนักพัฒนาการ ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้              จะประเมินจากพัฒนาการของผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน โดยยึดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการ (Progressivism)
            ในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ ทิศนา  แขมมณี (2545:130 – 131)          ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ไว้ ดังนี้
1. หลักการ
                ประสบการณ์เป็นแหล่งที่มาของการเรียนรู้และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดความคิด ความรู้ และการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ (Johnson & Johnson, 1975 : 7) สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและมีความหมายต่อตน เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่เริ่มจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดเจน จึงสามารถนำไปสู่การเรียนรู้เชิงนามธรรมอันจะส่งผลต่อการคิด การปฏิบัติหรือการกระทำใหม่ ๆ ต่อไป การที่ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงและค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง จะช่วยให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อตนเอง และจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกผูกพัน ความต้องการและความรับผิดชอบทีจะเรียนรู้ต่อไป
            2. นิยาม
                การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ หมายถึง การดำเนินการอันจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายโดยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (experience) ที่จำเป็นต่อการเยนรู้ในเรื่องที่เรียนรู้ก่อน แล้วจึงให้ผู้เรียนย้อนไปสังเกต ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและนำสิ่งทีเกิดขึ้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองร่วมกันจนกระทั่งผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอดหรือสมมติฐานต่าง ๆ ในเรื่องที่เรียนรู้ แล้วจึงนำความคิด หรือสมมติฐานเหล่านั้นไปทดลองหรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อไป
            3. ตัวบ่งชี้
                3.1 ผู้สอนมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ (learning experience) ในเรื่องที่เรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ลงไปประสบด้วยตนเอง
               3.2 ผู้เรียนมีการสะท้อนความคิด (reflect) และอภิปรายร่วมกัน เกี่ยวกับสิ่งที่ได้ประสบมา หรือเดขึ้นในสถานการณ์การเรียนรู้นั้น
              3.3 ผู้เรียนมีการสร้างความคิดรวบยอด/หลักการ/สมมติฐานจากประสบการณ์ที่ได้รับ
              3.4 ผู้เรียนมีการนำความคิดรวบยอด/หลักการ/สมมติฐานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ไปทดลองหรือประยุกต์ใช้สถานการณ์ใหม่ ๆ
              3.5 ผู้สอนมีการติดตามผล และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนผลการทดลอง/ประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อขยายขอบเขตของการเรียนรู้ หรือปรับเปลี่ยนความคิด/หลักการ/สมมติฐานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
              3.6 ผู้สอนมีการวัดและประเมินผล โดยใช้การประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองของผู้เรียน ประกอบกับการประเมินผลของผู้สอนด้วย

ข้อดีและข้อด้อยของการจัดหลักสูตรแบบประสบการณ์
ข้อดี
1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มาก สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ได้รู้จักการวางแผนการเรียนด้วยตนเอง ได้มีโอกาสทดลอง แก้ไขปัญหาได้อย่างมีเหตุมีผล มีความรับผิดชอบในตนเองต่อการศึกษา
3. ผู้สอนและผู้เรียนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
4. สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
5. ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
6. มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลา และวิธีจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย กิจกรรม การเรียนรู้ครอบคลุมเนื้อหาได้กว้างขวาง กระบวนการเรียนรู้เป็นไปตามขั้นตอน

ข้อด้อย
1. การจัดทำหลักสูตรทำได้ยาก
2. ถ้าครูผู้สอนไม่มีความกระตือรือร้น ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการสอน ขาดความเข้าใจในจิตวิทยาการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนแล้ว การจัดการเรียนรู้ก็ไม่ประสบ ความสำเร็จ
3. การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง หรือชีวิตจริงของเด็กแต่ละคนกระทำได้ยาก
4. เนื้อหาสาระที่ผู้เรียนได้รับ อาจจะไม่สัมพันธ์กับพัฒนาการของผู้เรียน หรือ ได้เนื้อหาสาระไม่ครบถ้วนและขาดความต่อเนื่องของความรู้ ไม่ได้รับความรู้เป็นกอบเป็นกำ หลักสูตรนี้ใช้ได้ดีกับผู้เรียนระดับประถมศึกษา เพราะสามารถจัดกิจกรรมหรือประกอบการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเด็กโต
5. ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆมิฉะนั้นการจัดการเรียนรู้จะไม่บังเกิดผล

การเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนทางตรงกับการสอนแบบเน้นประสบการณ์
            การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ข้าพเจ้าจัดการเรียนการสอนแบบทางตรง               ซึ่งใช้ได้ดีกับเนื้อหาหลักภาษาไทย เพราะสามารถจัดเนื้อหาสาระอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูงที่ซับซ้อนขึ้น มีการยกตัวอย่างประกอบ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วขึ้น  ส่วนการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ เป็นการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหว ใช้ความคิด ลงมือทำ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวรอบด้าน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีตามมา




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน