วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์



 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นดรรชนีชี้วัดการพัฒนา  ที่ตรงกับความเป็นจริงและน่าเชื่อถือกว่าดรรชนีอื่นๆแต่เพียงตัวเดียว

เป็นที่ยอมรับกันว่า ประเทศด้อยพัฒนาเพราะประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีโอกาสขยายศักยภาพและสมรรถภาพ เพื่อทำงานพัฒนาและบริการสังคม

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศใดขาดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบต่างๆดังกล่าวแล้วจะเป็นไปได้ยาก 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คืออะไร  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการเพิ่ม ความรู้ ทักษะ และสมรรถวิสัย ให้กับมนุษย์ในสังคม 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสร้างสมทุนมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การเตรียมคนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเมื่อโตขึ้นเป็น ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่งคั่ง มีความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติที่เหมาะสม

นอกเหนือจากการใช้การศึกษาแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำได้ด้วยการจัดให้มีบริการสาธารณะสุขและการ แพทย์ที่ดี การให้สวัสดิการและการให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน การปรับปรุงภาวะโภชนาการ และการอพยพย้ายถิ่น

อย่างไรก็ตาม การ ศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่บทบาทสำคัญกว่าวิธีการอื่นๆ  การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถใช้ได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการพัฒนาตนเอง

การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาในระบบโรงเรียน โดยเริ่มตั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอุดมศึกษา ปกติเมื่อพูดถึงการศึกษา คนส่วนใหญ่มักจะหมายถึงการศึกษาในระบบนี่เอง

การศึกษานอกระบบ หมายถึง การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการศึกษาระบบเปิด เป็นการศึกษาที่ช่วยสร้างความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพ ให้กับบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและบริการด้านอื่นๆ

การพัฒนาตนเอง เป็นวิธีการที่แต่ละคนแสวงหา ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมการและริเริ่มของตนเอง ตามความสนใจและความจำเป็นในการประกอบอาชีพ เป็นการศึกษาที่เกิดจากอิทธิพลทางบ้าน สังคม และสื่อต่างๆ

ในการวางแผนเพื่อจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน จำเป็นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน

          1. การจัดการศึกษาภาคบังคับ ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ หรือ ปริมาณ

          2. ระดับอุดมศึกษา  จะให้ความสำคัญกับการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ จะให้ความสำคัญกับ วิชา นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์

          3. การพัฒนาทักษะ  จะพัฒนาก่อนทำงาน หรือ จะพัฒนาในระหว่างทำงาน

          4. การสร้างแรงจูงใจทางการศึกษา จะใช้โครงสร้างของค่าจ้างและเงินเดือน หรือ ปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดแรงงาน

          5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ควรเป็นไปเพื่อสนองความต้องการและความปรารถนาของแต่ละบุคคล  หรือ สนองความต้องการและความปรารถนาของรัฐ

การตอบคำถามดังกล่าว จำเป็นจะต้องคำนึงถึง งบประมาณ ทรัยากรทางการศึกษา ลักษณะของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของแต่ประเทศ หากตอบผิด การศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาต่อไปนี้คือ

          1. ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนระดับสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนา

          2. ปัญหาเรื่องกำลังคนเหลือเฟือ ที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือใช้ประโยชน์จากกำลังคนที่ผลิตได้ไม่เต็มที่

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในการสร้งหลักสูตรหรือโปรแกรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศหนึ่ง ประเทศใด จะต้องมีการประเมินในเรื่องต่อไปนี้

          1.ความต้องการกำลังคนในระดับต่างๆ เป็นการคาดคะเนการใช้กำลังคนในอนาคต ว่าต้องการกำลังคนระดับใดจำนวนเท่าใด

          2. การศึกษาในระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีมากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร

          3. สถาบันสำหรับการฝึกอบรมระหว่างประจำการ และการศึกษาผู้ใหญ่ มีมากน้อยเพียงใด

          4.โครงสร้างของแรงจูงใจให้บุคคลเข้ารับการศึกษาเหมาะสมหรือไม่ และการใช้ประโยชน์จากกำลังคนระดับสูงมากน้อยเพียงใด

จะเห็นว่าการใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากร มนุษย์นั้น  ใช่เพียงแค่เปิดสถานศึกษาหรือให้บริการศึกษาเพียงพอเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการกำลังคนที่สอดคล้องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย
    
  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) คือกรอบและกระบวนการในการพัฒนาตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ ความสามารถไปจนถึงมีทักษะในการปฎิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งพนักงานยังเกิดการพัฒนาศักยภาพด้วย โดยการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรนั้นอาจทำได้หลายวิธีหรือหลายกระบวน การตั้งแต่การฝึกอบรม, การศึกษาผ่านการเรียนการสอนที่จริงจัง, การออกไปดูงานนอกองค์กร, ไปจนถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งเมื่อพนักงานได้รับการพัฒนาแล้วก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ส่งผลให้องค์กรพัฒนาและประสบความสำเร็จตามไปด้วยได้
ทำไมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงมีความสำคัญ
มนุษย์ต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องการเติบโตตลอดเวลาเช่นกัน องค์กรจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้นแน่นอนว่าผู้ที่มีส่วนผลักดันสำคัญก็คือ พนักงานทุกคนนั่นเอง ศักยภาพทุกคนย่อมส่งผลต่อศักยภาพขององค์กร หากพนักงานทุกคนทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพย่อมทำให้องค์กรนั้นมีประสิทธิภาพ ตามไปด้วย ดังนั้นการช่วยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้นอย่าง สม่ำเสมอจึงเป็นภาระกิจหนึ่งที่จำเป็นขององค์กร และผู้ที่มีส่วนสำคัญมากๆ ตรงจุดนี้ก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั่นเอง ซึ่งงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) นั้นค่อนข้างจะสำคัญกับองค์กรอย่างยิ่ง ถ้าขาดความใส่ใจตรงจุดนี้ องค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานไร้ประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้องค์กรหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่พัฒนา ธุรกิจถดถอย และไร้ศักยภาพได้ในที่สุดเช่นกัน
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  1. ต้องการให้พนักงานในองค์กรพัฒนาฝีมือ, ทักษะการทำงาน, ตลอดจนมีองค์ความรู้ต่างๆ ที่ดีขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงานให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น
  2. เพื่อ อุดรอยรั่วของข้อบกพร่องต่างๆ ที่ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาด ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น
  3. เพื่อ ให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล ให้ทุกคนรู้สึกถึงการดูแลขององค์กร ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพตลอดจนความสามารถให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ สร้างความก้าวหน้าให้เป็นรูปธรรม
  4. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการใช้วัดผลพนักงาน ประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนคาดการณ์ศักยภาพขององค์กร
  5. เพื่อใช้วางแผนงาน วางแผนธุรกิจ ตลอดจนวางทิศทางขององค์กรในอนาคตได้
  6. เพื่อให้พนักงานมีความภักดีกับองค์กร ทั้งยังเป็นการรักษาพนักงานไว้ให้ต้องการร่วมงานกับองค์กรในระยะยาวด้วย
  7. เพื่อให้ทุกคนตั้งแต่พนักงาน, ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR), ฝ่ายบริหาร, ตลอดจนองค์กรเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัยากรมนุษย์

หลักการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ยุคปัจจุบันนี้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) ถือเป็นภาระกิจสำคัญของแทบทุกองค์กรไปแล้ว เพราะบุคลากรนั้นคือหัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำองค์กรนั้นมีศักยภาพที่ดีขึ้น ได้หรือไม่ ซึ่งหลักการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นมีสิ่งน่าสนใจดังนี้

1. ประเมินสถานการณ์ตลอดจนความต้องการที่ถูกต้องและแท้จริง (Real Situations and Needs Assessments)

การเริ่มต้นที่ถูกทิศทาง ทำให้เราเดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) ที่ดีควรเริ่มต้นที่การทำการศึกษาตลอดวิจัยข้อมูลในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง และวางแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ ในขั้นตอนนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในหลายองค์กรมักมองข้าม อาจคิดเอง ประเมินผลเอง โดยไม่มีการสำรวจข้อมูลมาก่อน ทางที่ดีที่สุดควรทำการสำรวจถึงข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง อาทิ ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับการทำงานในขณะนั้นตามสถานการณ์นั้นๆ หรือ ทักษะไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับการทำงานในตอนนี้ เป็นต้น โดยการสำรวจและประเมินผลความต้องการที่แท้จริงนั้นอาจทำได้จากการสร้างแบบ สอบถามพนักงาน, การเรียกพนักงานมาสัมภาษณ์, การทำโฟกัสกรุ๊ปของแผนกต่างๆ, ไปจนถึงการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด เพื่อที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะได้นำไปออกแบบแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ดี ที่สุดเช่นกัน ตลอดจนสามารถประเมินความสามารถในการทำงานปัจจุบัน (Actual Performance) กับ ความสามารถที่องค์กรคาดหวัง (Desired Performance) ว่าตรงกันหรือไม่ หรือควรวางแผนพัฒนาอย่างไรให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม

2.ออกแบบวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Development Programs Design)

ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อมูลที่ดีสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรเพียง ไร แต่หากใช้วิธีการพัฒนาที่ไม่ถูกต้องหรือเหมาะสมแล้ว ก็อาจทำให้ผลลัพท์ที่ได้นั้นสูญเปล่าหรือไม่ตอบโจทย์ได้เช่นกัน กระบวนการออกแบบวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญไม่แพ้การ หาข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง หากฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ข้อมูลที่ดีมาแล้วก็ย่อมต้องวางแผนออกแบบการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ให้ดีตามไปด้วย อย่างเช่นหากเรารู้ว่าปัญหาของฝ่าย IT บริษัทคือการใช้โปรแกรมที่ไม่ทันสมัย เราก็ควรจัดคอร์สอบรมเพิ่มเติมในการเรียนรู้โปรแกรมให้ทันตามโลกด้วย ไม่ใช่เลือกอบรมในโปรแกรมเดิมซ้ำไปซ้ำมา หรือเลือกโปรแกรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลือกคอร์สเรียนที่ราคาถูกแต่โปรแกรมนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ตลอดจนไม่ มีประสิทธิภาพสำหรับองค์กร เป็นต้น ซึ่งก่อนที่จะออกแบบวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละอย่างนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เสียก่อน แล้วจึงค่อยลงรายละเอียดไปที่วิธีการต่างๆ ควรรู้ว่าควรจะพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้เข้มข้นขึ้น, หรือควรจะพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือแม้แต่พัฒนาในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องมาก่อน แต่เป็นประโยชน์สำหรับการทำงานในเวลานี้ เป็นต้น รวมถึงการออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับพนักงานด้วย

3. การประเมินผล (Evaluation)

การประเมินผลนั้นเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ นอกจากเราจะรู้ว่าวิธีการที่เราเลือกนำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ การนำมาใช้กับบุคคลากรของเราหรือไม่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็จะได้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของ องค์กรด้วย การประเมินผลนั้นควรทำทั้งในส่วนของโปรแกรมการพัฒนาต่างๆ ไปจนถึงผู้เรียน (พนักงาน) เอง และควรเริ่มประเมินผลตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโปรแกรมไปจนกระทั่งวันสุดท้ายที่ สิ้นสุดการอบรม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด และดีที่สุด เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาศักยภาพพนักงานและองค์กรต่อไปด้วย

4. สรุปและแจ้งผล (Conclusion and Feedback)

หากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วควรทำสรุปผลต่างเพื่อเป็นฐานข้อมูลของบุคคล นั้นๆ ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลสำคัญขององค์กร ขณะเดียวกันก็ควรจะแจ้งผลสรุปในกระบวนการพัฒนาทรัยากรมนุษย์ในแต่ละครั้งไป ยังผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ผู้เข้ารับการฝึกฝน, หัวหน้างาน, หรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กรเองก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรู้ความก้าวหน้าตลอดจนศักยภาพของแต่ละคน รวมถึงประเมินความสำเร็จของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองด้วย และประสิทธิผลที่เกิดขึ้นว่ามีคุณค่าต่อองค์กรหรือเปล่า การสรุปและแจ้งผลนี้ไม่ใช่การจับผิดหรือตำหนิติเตียนแต่เพื่อเป็นการรู้แนว ทางในการพัฒนาตนเองต่อไปได้ด้วย

ประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

  • 1.ช่วยพัฒนาทักษะตลอดจนองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานเกิดความก้าวหน้าในสายงาน
  • 2.ทำให้องค์กรมีศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
  • 3.ช่วยเพิ่มมาตรฐานการทำงานให้กับองค์กร
  • 4.ทำให้พนักงานรักในงานที่ทำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นคุณค่า ประโยชน์ รวมถึงพัฒนาการในการทำงาน และสร้างคุณค่าให้กับพนักงานตลอดจนงานที่ทำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
  • 5.พนักงานสามารถค้นพบการแก้ปัญหาต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนอาจค้นพบความสามารถในการทำงานของตัวเองได้มากขึ้นอีกด้วย
  • 6.ช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี สร้างความมุ่งมั่นในการทำงานเป็นทีม รวมถึงช่วยให้ระบบการทำงานแบบองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
  • 7.สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้ เป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งการพัฒนาศักยะภาพ และช่วยสร้างเป้าหมายที่ดีให้กับองค์กรเพื่อผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่ความ สำเร็จที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ
  • 8.สร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานในองค์กร ตลอดจนปรับปรุง เปลี่ยนแปลง บทบาทและหน้าที่ของการทำงานให้ดียิ่งขึ้นได้
  • 9.ช่วยให้องค์กรสามารถเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับพนักงานตลอดจน การพัฒนาองค์กรในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาบุคคลากรในอนาคตได้
  • 10.สร้างอนาคตให้กับพนักงานในองค์กร รวมถึงองค์กรเอง

สถานการณ์ทรัพยากรมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21

ยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่โลกและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ในขณะเดียวกันโลกทั้งโลกต่างก็เชื่อมต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ประชากรแต่ละประเทศต่างกลายเป็นประชากรโลกที่แทบจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอดจนมีพฤติกรรมคล้ายกัน แล้วมนุษย์นี่แหละคือบุคคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนโลกใบนี้
ในส่วนขององค์กรต่างๆ ก็เช่นกัน เริ่มเล็งเห็นความสำคัญว่าทรัพยากรบุคคลของตนนี่แหละที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า ดังนั้นเราจึงเห็นการใส่ใจบริหารทรัพยากรมนุษย์กันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งหากมนุษย์มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าองค์กรตลอดจนโลกใบนี้ก็ล้วน แล้วแต่ได้รับผลประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจนั้นก็คือการเกิด องค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills : P21) ซึ่ง P21 นี้เป็นเครือข่ายที่ร่วมมือกันตั้งแต่หน่วยงานรัฐไปจนถึงบริษัทเอกชน ของอเมริกาในการร่วมกันพัฒนา ทักษะแห่งอนาคตใหม่เพื่อที่จะสร้างบุคคลากรที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 นั่นเอง
ในส่วนของเมืองไทยเองก็เริ่มหันมาใส่ใจกับทรัพยากรมนุษย์มากขึ้นเช่นกัน จะเห็นได้ชัดจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ซึ่ง เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ โดยแผนฯ นี้ได้เริ่มหันมาสนใจกับการพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์ในชาติอย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่แพ้การพัฒนาเศรษฐกิจ มีการระบุเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนเพิ่มศักยภาพของคนในชาติให้ เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต่างก็เริ่มหันมาใส่ใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจังเพื่อให้สอด คล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศด้วย และยังคงให้ความสำคัญกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเทรนด์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความ สำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย หลายองค์กรต่างแข่งกันพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลของตนจนเป็นผลสำเร็จให้เห็น มาแล้วมากมาย และทรัพยากรมนุษย์นี่แหละคือปัจจัยสำคัญในการปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนโลกใบนี้ นั่นเอง

บทสรุป

องค์กรจะก้าวไปได้ไกลอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเกิดจากบุคลากรที่มีศักยภาพ ฉะนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นพันธกิจสำคัญที่จะต้องใส่ใจ นอกจากกระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานให้เพิ่มมากขึ้นได้ด้วยนั้น ก็ยังช่วยรักษาพนักงานที่ดีมีศักยภาพให้ทำงานร่วมกับองค์กรได้ระยะยาวอีก ด้วย รวมถึงช่วยสร้างความภักดีให้กับองค์กร ตลอดจนร่วมพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน